รู้จักโฮสติ้ง (Hosting) ให้มากขึ้น


อย่างที่ผมเคยเขียนในบทความ หลาย ๆ บทความแล้วว่า ก่อนที่เราจะออกแบบเว็บไซต์นั้น เราควรจะต้องตั้งชื่อเว็บไซต์เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นการทำให้เป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของเราชัดเจนมากขึ้น และเมื่อเราได้ชื่อเว็บไซต์ และจดโดเมนเนมเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปเราก็จะมาพิจารณากันว่าจะเลือกโฮสติ้ง (Hosting) อย่างไร

หากบอกว่าชื่อเว็บไซต์คือชื่อร้าน หรือชื่อกิจการที่เราตั้งขึ้น โฮสติ้งก็เปรียบเสมือนตึก หรืออาคารที่เราซื้อ หรือเราเช่านั่นเอง หากเรามีทุนทรัพย์มากพอเราก็อาจจะซื้ออาคารนั้นเป็นของเราเลย แต่หากเราไม่มีทุนมากนัก เราก็จำเป็นจะต้องใช้การเช่า แทนการซื้อนั่นเอง

การเช่าโฮสติ้ง เหมือนกับการเช่าตึกอยู่หลาย ๆ ด้าน เช่น 
    1.  ในตึกนั้นมีผู้เช่าอยู่ในชั้นอื่น ๆ ของตึกนั้นด้วย การเช่าโฮสติ้งก็เหมือนกันย่อมมีผู้เช่าคนอื่น ๆ อยู่บนเครื่องเดียวกับเราด้วย
     2.  ในการเช่าตึกนั้นเราสามารถเลือกพื้นที่ได้มากน้อยตามความต้องการ การเช่าโฮสติ้งก็เช่นเดียวกัน
     3.  การเช่าตึกนั้นมีระยะเวลาในการเช่า โฮสติ้งก็เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเช่าเป็นรายปี
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการเปรียบเปรย เพื่อช่วยให้ผู้เริ่มต้นสามารถมองเห็นภาพ และเข้าใจการเช่าโฮสติ้งมากขึ้น

ต่อไปเราจะมาดูว่าในทางเทคนิคแล้วโฮสติ้งนั้นคืออะไรกันแน่ เรามาดูกันเลยดีกว่า โดยหลักการของอินเตอร์เน็ตแล้ว  คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถเข้าไปเอาข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งที่อยู่ห่างไกลได้ เพราะมีการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยสื่อนำสัญญาณต่าง ๆ เช่น สายโทรศัพท์, สายไฟเบอร์ออปติค และดาวเทียมเป็นต้น

เมื่อเราสร้างเว็บไซต์เสร็จเราจะทำเว็บไซต์เหล่านั้นไปวางบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวนี้จะต้องเปิดตลอด 365 วัน เราเรียกมันว่าเครื่อง Server หากเรามีเงินทุนเราสามารถซื้อเครื่อง Server ติดตั้งเองที่บ้านก็ได้ บางคนบอกว่าถ้าราคาแค่ 2 - 4 หมื่น ซื้อเอาไว้ที่บ้านก็ได้ แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น

เครื่อง Server ต้องได้รับการดูแล โดยมีการสร้างห้องสำหรับวาง Server ภายในห้องนั้นจะต้องติดตั้งแอร์ที่สามารถเปิดได้ทั้งวันทั้งคืน ตลอด 365 วันเช่นกัน นอกจากนี้ไฟฟ้าจะต้องมีความนิ่ง เรียกได้ว่าถ้าไฟดับคุณจะต้องสามารถสำรองไฟฟ้าเอาไว้ได้จนกว่าไฟจะมา  สุดท้ายคือคุณควรมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อรองรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

จากเหตุที่ได้เขียนมาคุณอาจจะบอกว่าบางข้อดูเกิดความเป็นจริงไปหน่อย  แต่ผมเพียงอยากจะบอกว่าเว็บไซต์ที่ดีนั้นต้องมีความเสถียร ไม่ดับง่าย ดับบ่อย หรือที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่า เว็บไซต์ล่มนั่นเอง ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เราจึงไม่อยากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเอง เพราะผู้ให้บริการโฮสติ้งได้เตรียมทุกอย่างเอาไว้ให้เราพร้อมแล้ว เพียงแค่เราจ่ายค่าเช่าก็สามารถใช้งานได้ทันที

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจโฮสติ้งมากขึ้ันนะครับ






โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Joomla โมดูล (module) คืออะไร

Joomla เทมเพลท (template) คืออะไร

วิธี Update Joomla 3.x